เวชสำอางสำหรับผิวพรรณ

เวชสำอางสำหรับผิวพรรณ

คำนิยามของ “เครื่องสำอาง (cosmetics)” ตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 หมายถึงวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือ กระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม และ รวมตลอดถึงเครื่องประทินผิวต่างๆด้วย แต่ไม่รวมถึงเครื่องประดับและเครื่องแต่งตัวซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายนอกร่างกาย1

เวชสำอาง (cosmeceuticals) ไม่มีคำนิยามตามกฎหมาย (ไทย อเมริกา และประเทศอื่นๆ) ได้จากการเอาคำว่า cosmetics (เครื่องสำอาง) มารวมกับ pharmaceuticals (ยา) เป็น cosmeceuticals โดยบริษัทอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (Cosmetic Industry) และ Kligman ในปี ค.ศ. 1980 ได้ให้นิยามว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ให้คุณประโยชน์แก่ผิวหนัง เช่น ลดริ้วรอย ทำให้ผิวกระจ่างใส เพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ก่อให้เกิดสิว แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่จัดเป็นยา

ความตื่นตัวในการพัฒนาให้เครื่องสำอางเป็นมากกว่าเครื่องสำอางเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีกำลังซื้อและมีความรักสวยรักงามเป็นทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะสุภาพสตรีที่ต้องการให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์ เปล่งปลั่ง กระจ่างใส ไร้ริ้วรอย ไร้ฝ้า ไร้กระ และสิว เป็นต้น นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมีการค้นคว้า พัฒนา สารออกฤทธิ์ไม่ว่าจะเป็นเคมี หรือสารสกัดจากธรรมชาติ อย่างต่อเนื่อง

การที่เวชสำอางสำหรับผิวพรรณมีการเติบโตสูงอาจเป็นเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่จะใส่ใจกับการดูแลผิวพรรณเป็นพิเศษ เพราะผิวพรรณที่สวยงาม มีสุขภาพดี จะเสริมความมั่นใจในการพบปะผู้คน คนที่ใบหน้าเป็นสิว ฝ้าขนาดใหญ่ ตกกระจำนวนมาก มักจะมีความกังวล เครียด ไม่กล้าพบปะผู้คน ขาดความมั่นใจ จนทำให้เสียการเรียนหรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่บุคคลกลุ่มนี้จะพยายามทุกวิถีทางที่จะรักษาใบหน้าให้ไร้สิว ฝ้า จุดด่างดำ แม้จะต้องเสียค่ารักษาเป็นจำนวนมากก็ตาม

เนื่องจากเวชสำอางในท้องตลาดมีมากมายหลากหลายชนิดและมีการแข่งขันสูง จึงอาจมีการโฆษณาและแสดงสรรพคุณที่เกินขอบเขตที่พ.ร.บ.เครื่องสำอางอนุญาต ผู้บริโภคจึงควรซื้อเวชสำอางที่ได้จดแจ้งกับอ.ย.แล้วเท่านั้น ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง เภสัชกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเวชสำอางเพื่อการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปัญหาของผิวพรรณ อ่านฉลากและวิธีใช้อย่างละเอียด พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลเชิงลึกของส่วนประกอบที่สำคัญในเวชสำอางนั้นๆว่าสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เนื่องจากเวชสำอางมักมีราคาสูงและจำเป็นต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 1 เดือนขึ้นไปจึงจะเห็นผล

1 www.fda.moph.go.th