ผู้มีปัญหาการย่อยและการดูดซึม

ผู้มีปัญหาการย่อยและการดูดซึม

ความสำคัญของ MCT (Medium Chain Triglyceride)

MCT (Medium Chain Triglyceride) เป็นไขมันที่ได้มาจากการสกัดน้ำมันมะพร้าว มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี ย่อยและดูดซึมได้ง่ายกว่าไขมันที่จาก น้ำมันพืชทั่วไป เนื่องจากการย่อยการดูดซึม MCT เกิดขึ้นได้ในเซลล์ลําไส้เล็ก และไม่ต้องพึ่งกรดนํ้าดีในการดูดซึม และเมื่อถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้ ก็สามารถนำพลังงานไปใช้ได้ทันที จากคุณสมบัติดังกล่าวทางการแพทย์จึงได้นํา MCT มาใช้เป็นแหล่งให้ไขมันให้กับผู้ป่วยที่มีปัญหาของการย่อยและการดูดซึมไขมัน ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับตับอ่อนและถุงน้ำดี รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่มีระบบการย่อยการดูดซึมไม่ดี อาการของผู้ที่มีปัญหาการย่อยและการดูดซึมไขมัน จะพบลักษณะ ผิวหนัง ขน หรือผมแห้ง หรือ อุจจาระจะมีลักษณะนุ่มเป็นมันคล้ายครีมเนย มีกลิ่นเหม็น มาก มีลักษณะเบา ลอยน้ำ และมองเห็นหยดน้ำมันแยกออกมาเป็นบางส่วน (steatorrhea)

ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งที่มีระบบการย่อยการดูดซึมที่ไม่ดี ควรได้รับอาหารจำพวกไขมันในรูป MCT ส่วนข้อควรระวังในการได้รับ MCT ในระยะเวลา นานกว่า 2 สัปดาห์หรือ ปริมาณมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ อาจทำให้ขาดกรดไขมันที่จำเป็นที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ต้องอาศัยการกินเข้าไปร่างกายต้องการไขมันที่จำเป็นเพื่อสร้างความสมดุลย์ของร่างกายหรืออาจส่งผลให้เกิดการถ่ายเหลว (diarrhea) ได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมะเร็งได้รับ MCT ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ร่างกายอยู่ในภาวะที่สมดุลได้

กล่าวโดยสรุป ไขมัน MCT สามารถย่อยและดูดซึมง่าย ใช้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยการดูดซึม ใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมตามดุลพินิจของแพทย์ และควรได้รับกรดไขมันที่จำเป็นร่วมด้วย ในผู้ป่วยมะเร็งที่รับประทานอาหารได้น้อยอันเนื่องจากผลข้างเคียงจากการรักษาหรือพยาธิสภาพของโรค การเสริมด้วยอาหารหรือใช้อาหารทางการแพทย์ ที่มีสัดส่วนของสารอาหารทั้ง ปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมันจำเป็นและไขมัน MCT วิตามิน และแร่ธาตุ ที่เหมาะสม ระหว่างมื้อหรือให้ทางสายให้อาหารแก่ผู้ป่วย จะมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งมีภาวะโภชนาการและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เอกสารอ้างอิง

สิริพันธ์ จุลกรังคะ. โภชนศาสตร์เบื้องต้น. สำนักพิมพ์เกษตรศาตร์. พิมพ์ครั้งที่ 3, 2545
สุจินดา ริมศรีทอง. พยาธิสรีรวิทยาทางการพยาบาล เล่ม 1.สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิมพ์ครั้งที่ 4, 2554

และ ขอขอบคุณ LINK ที่ http://www.thai-otsuka.co.th/index.php/th/in/health-info-th/info-health#