วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คืออะไร ?
วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
วิตามินคือสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อร่างกายในการเปลี่ยนอาหารให้เป็นพลังงาน รวมทั้งการสร้างเนื้อเยื่อและการซ่อมแซมส่วนต่างๆของร่างกายก็จำเป็นต้องใช้วิตามินเป็นตัวขับเคลื่อนปฏิกิริยาทางชีวเคมีของเซลล์ ร่างกายต้องการวิตามินในปริมาณที่น้อย ส่วนใหญ่ได้จากอาหารที่เรารับประทานในแต่ละวัน วิตามินส่วนน้อยร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองได้ เช่น วิตามินดี และเค วิตามินบี 7 หรือไบโอติน ผู้ที่ควรได้รับวิตามินเสริม ได้แก่ เด็กและสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยและผู้ป่วยพักฟื้น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับหรือพักผ่อนน้อย ผู้ที่ขาดสารอาหารหรือมีปัญหาเรื่องการดูดซึมสารอาหาร ผู้ที่ทานมังสวิรัติ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่
วิตามินมีทั้งหมด 13 ชนิด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ วิตามินที่ละลายในน้ำ (วิตามินบี และ ซี) และวิตามินที่ละลายในไขมัน (วิตามิน เอ ดี อี และเค) วิตามินที่ละลายในน้ำหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะถูกขับออกทางปัสสาวะและเหงื่อจึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารทุกวัน ส่วนวิตามินที่ละลายในไขมันจะถูกเก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมันหากร่างกายได้รับในปริมาณที่มากเกินไปจะถูกเก็บสะสมมากขึ้นจนถึงระดับที่เป็นพิษได้
ลองมาดูกันว่าวิตามินแต่ละชนิดพบได้ในอาหารประเภทไหน และปริมาณที่คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปควรบริโภคประจำวัน (Thai Recommended Daily Intake หรือ Thai RDI) เป็นเท่าไหร่ ได้จากตารางข้างล่าง
วิตามิน | หน้าที่ | แหล่งที่พบ | Thai RDI* |
ซี | § กระตุ้นการสร้างคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กระดูกอ่อน เอ็น ผนังหลอดเลือด§ ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น ลดรอยแผลเป็น§ ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน§ ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันไม่ให้เซลล์ตาย ชะลอกระบวนการ aging | ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวและผักใบเขียว | 60 mg |
วิตามินบี มีด้วยกันหลายชนิด มีความสำคัญต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆ ในร่างกายทั้ง ระบบประสาท ผิวหนัง อวัยวะต่างๆ รวมทั้งเม็ดเลือด วิตามินบีช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลกลูโคสซึ่งเป็นแหล่งพลังงานให้กับเซลล์ และช่วยให้ร่างกายใช้ไขมันและโปรตีน เป็นโคเอนไซม์ในปฏิกิริยาทางชีวเคมีหลายอย่าง | |||
บี 1(ไธอามิน) | § ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ§ ช่วยสร้างพลังงานให้กับเซลล์ในรูปของ ATP§ เสริมภูมิคุ้มกันโรค บรรเทาอาการเครียด | อาหารทั่วไป ข้าวซ้อมมือ บริเวอร์ยีสต์ | 1.5 mg |
บี 2(ไรโบฟลาวิน) | § จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการสร้างเม็ดเลือดแดง§ บำรุงผิวหนัง ผม เล็บ ต้านอนุมูลอิสระที่ทำร้ายเซลล์§ ช่วยให้ร่างกายเปลี่ยนวิตามินบี 6 และโฟเลทให้อยู่ในรูปที่นำไปใช้ได้ | อาหารทั่วไป บริเวอร์ยีสต์ | 1.7 mg |
บี 3(ไนอะซิน) | § ช่วยระบบไหลเวียนเลือด ลดการอักเสบ ช่วยให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากต่อมหมวกไตและส่วนอื่นๆของร่างกาย | อาหารทั่วไป บริเวอร์ยีสต์ | 20 mg |
บี 5(แพนโทเทนิค เอซิด) | § ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น ช่วยให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้นเมื่อให้ร่วมกับวิตามินซี§ ช่วยให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดจากต่อมหมวกไต รวมทั้งการสร้างเม็ดเลือดแดงและโคเลสเตอรอล§ ช่วยบรรเทาอาการเครียด ทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี | อาหารทั่วไป บริเวอร์ยีสต์ | 6 mg |
บี 6(ไพริด๊อกซิน) | § จำเป็นต่อการพัฒนาสมองและการทำงาน สร้างสารสื่อประสาทซีโรโทนินและนอร์เอพิเนฟรินซึ่งควบคุมอารมณ์ รวมทั้งเมลาโทนินซึ่งควบคุมการนอนหลับ§ ช่วยคงระดับของโฮโมซิสเตอินในเลือดซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ โดยทำงานร่วมกับวิตามินบี 12 และบี 9§ ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี 12 สร้างเม็ดเลือดแดงและเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน | อาหารทั่วไป บริเวอร์ยีสต์ | 2 mg |
บี 7(ไบโอติน) | § ทำให้ผมและเล็บแข็งแรง§ ช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และกรดอะมิโน§ จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์มารดา | อาหารทั่วไป บริเวอร์ยีสต์ | 150 mcg |
บี 9(โฟลิค เอซิด) | § จำเป็นต่อการทำงานของสมอง สุขภาพจิตและอารมณ์§ ช่วยในการสร้างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ) ขณะเซลล์หรือเนื้อเยื่อกำลังเจริญเติบโต เช่น ขณะตั้งครรภ์ วัยเด็ก วัยรุ่น§ ช่วยคงระดับของโฮโมซิสเตอินในเลือดซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจ โดยทำงานร่วมกับวิตามินบี 12 และบี 6§ ทำงานร่วมกับวิตามินบี 12 ในการสร้างเม็ดเลือดแดงและช่วยการทำงานของธาตุเหล็กในร่างกาย | อาหารทั่วไป บริเวอร์ยีสต์ | 200 mcg |
บี 12(โคบาลามิน) | § ทำให้เซลล์ประสาทแข็งแรง§ ทำงานร่วมกับวิตามินบี 6 และบี 9§ ช่วยในการสร้างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ) | อาหารทั่วไป โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม | 2 mcg |
เอ | § สร้างกระดูกและฟัน§ ช่วยการมองเห็นโดยเฉพาะในที่มืด§ ช่วยให้ผิวหนังและเยี่อบุแข็งแรง§ ช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ การเจริญเติบโตของตัวอ่อน | น้ำมันตับปลา ตับไก่ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว ผักหรือผลไม้ที่มีสีเหลือง/ส้ม | 2664 IU |
ดี | § ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและนำไปใช้สร้างกระดูก | น้ำมันตับปลา ปลา ไข่ ธัญพืช นมเสริมวิตามินดีผิวหนังสังเคราะห์วิตามินดีได้เมื่อได้รับแสงแดดในปริมาณที่เพียงพอ | 200 IU |
อี | § ต้านอนุมูลอิสระที่ทำร้ายเซลล์§ ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง§ ช่วยให้ร่างกายใช้วิตามินเคได้ | จมูกข้าวสาลี ตับ ไข่ ผักใบเขียว ถั่ว น้ำมันพืชสกัดเย็น | 15 IU |
เค | § ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด | ผักใบเขียว ไข่แดง นมแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถสังเคราะห์วิตามินเคได้ | 80 mcg |
*บัญชีหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ.2541
แร่ธาตุ
แร่ธาตุมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของมนุษย์ เช่น เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างร่างกาย ช่วยรักษาสมดุลของอิเล็กโตรไลท์ ช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ เป็นองค์ประกอบของกระดูก เม็ดเลือดแดง เป็นต้น ช่วยการทำงานของระบบเอ็นไซม์ต่างๆ ในกระบวนการทางชีวเคมีมากมายที่เกิดขึ้นในร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างพลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไปเพื่อให้เซลล์นำไปใช้และร่างกายดำรงอยู่ได้
แร่ธาตุแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม คลอไรด์ โปแตสเซียม และแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย เช่น เหล็ก ไอโอดีน สังกะสี ทองแดง แมงกานีส ซีลีเนียม ฟลูโอไรด์ โมลิบดินัม โครเมียม
แร่ธาตุจะพบในอาหารทั่วไป และโดยส่วนใหญ่จะไม่พบการขาดแร่ธาตุ ยกเว้นในสภาวะที่ร่างกายมีความต้องการแร่ธาตุเพิ่มขึ้น เจ็บป่วย หรือมีความบกพร่องในการดูดซึม
ตารางข้างล่างแสดงปริมาณแร่ธาตุที่คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปควรบริโภคประจำวัน (Thai Recommended Daily Intake หรือ Thai RDI)
แร่ธาตุ | Thai RDI* |
แคลเซียม | 800 mg |
แมกนีเซียม | 350 mg |
ฟอสฟอรัส | 800 mg |
โซเดียม | 2,400 mg |
คลอไรด์ | 3,400 mg |
โปแตสเซียม | 3,500 mg |
เหล็ก | 15 mg |
ไอโอดีน | 150 mcg |
สังกะสี | 15 mg |
ทองแดง | 2 mg |
แมงกานีส | 3.5 mg |
ซีลีเนียม | 70 mcg |
ฟลูโอไรด์ | 2 mg |
โมลิบดินัม | 160 mcg |
โครเมียม | 130 mcg |
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 293) พ.ศ.2548 เรื่อง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบอยู่ในรูปเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น ซึ่งไม่ใช่รูปแบบอาหารตามปกติ (conventional foods)
สารอาหารหรือสารอื่น หมายถึง
(1) วิตามิน กรดอะมิโน กรดไขมัน แร่ธาตุ และผลิตผลจากพืชหรือสัตว์
(2) สารเข้มข้น สารเมตาโบไลท์ ส่วนประกอบ หรือสารสกัดของสารใน (1)
(3) สารสังเคราะห์เลียนแบบสารตาม (1) หรือ (2)
(4) ส่วนผสมอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างของสารใน (1) (2) หรือ (3)
(5) สารหรือสิ่งอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาหาร
ผลิตภัณฑ์อาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้พิจารณาอนุญาตไปทั้งหมดจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 6 กลุ่มดังนี้1
- วิตามิน
- แร่ธาตุ
- กรดอะมิโน
- กรดไขมัน เช่น กรดไขมันโอเมก้า 3 กรดไขมันโอเมก้า 6
- ผลผลิตจากพืช เช่น โอลิโกฟรุกโตส เพกติน ใยอาหาร สารสกัดเมล็ดองุ่น
- ผลผลิตจากสัตว์ เช่น ผงหอยนางรม สารสกัดจากเปลือก- สัตว์ทะเล น้ำมันปลา กระดูกอ่อนปลาฉลาม
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นอาหารที่ได้รับการกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานและฉลากต้องได้รับอนุญาตก่อนนำไปใช้ ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบก่อนซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าได้รับอนุญาตหรือยัง และควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนบริโภค ไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณหรือการบอกต่อโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรพิจารณาจากความต้องการของร่างกายว่าจำเป็นหรือไม่ สามารถได้รับจากอาหารที่รับประทานทุกวันหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนรับประทานเป็นประจำ
1 ดารณี หมู่ขจรพันธ์ นักวิชาการอาหารและยา 9 ชช.ด้านความปลอดภัยของอาหารและการบริโภคอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา For Quality Vol.14 No.123 หน้า 090-093